วัดหัวข่วง

วัดหัวข่วง ตั้งอยู่ใกล้หอคำ หรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน มีวิหารและเจดีย์ ที่มีลักษณะศิลปกรรมแบบท้องถิ่นล้านนา สกุลช่างเมืองน่าน ฝีมือประณีตงดงาม วัดนี้ไม่ปรากฏว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยใด มีเพียงหลักฐานว่าได้รับการบูรณะในราว พ.ศ. 2425  โดย เจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าเมืองน่าน และต่อมาราวปี พ.ศ.2472 ในสมัยเจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองน่านองค์สุดท้าย

มีวิหารที่สวยงาม ปัจจุบันเป็นอาคารทรงจั่ว เด่นที่หน้าบันประดับลวดลายไม้จำหลักรูปพรรณพฤกษา อย่างประณีต และสวยงาม ซุ้มประตูหน้าต่าง ประดับลายปูนปั้นรูปใบผักกาด อันเป็นศิลปะแบบตะวันตก เป็นวิหารฝีมือช่างเมืองน่านที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง นอกจากนี้ ในวัดยังมีหอไตรเก่า คล้ายวิหาร แต่มีขนาดเล็ก และทรงสูง หน้าบันและฝาชั้นบนประดับลายแกะสลักสวยงาม ตั้งอยู่ใกล้องค์เจดีย์

เจดีย์วัดหัวข่วง ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงประสาทหรือเรือนทอง อิทธิพลศิลปะล้านนา ฐานล่างทำเป็นหน้ากระดานสี่เหลี่ยม รับฐานบัวลูกแก้ว 2 ชั้น มีชั้นหน้ากระดานคั่นกลาง ฐานบัวลูกแก้วชั้นบนย่อเก็จรับกับเรือนธาตุ ไปจรดชั้นบัวถลาใต้องค์ระฆัง ส่วนเรือนธาตุมีซุ้มจรนัมด้านละซุ้ม ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยสำริด ที่มุมผนังทั้งสองข้าง ปั้นเป็นรูปแทวดาทรงเครื่องยืนพนมมือ เหนือชั้นอัสดงตอนสุดเรือนธาตุเป็นชั้นบัวถลาซ้อนกัน 3 ชั้น องค์ระฆัง มีขนาดเล็กไม่มีบัลลังก์

ลักษณะของรูปทรงโดยส่วนรวมคล้ายกับเจดีย์วัดโลกโมลี อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งสร้างขึ้นระหว่างรัชกาลพระเมืองเกษเกล้า รวม พ.ศ. 2071 แต่ส่วนฐานล่างและชั้นบัวถลาของเจดีย์นี้ยึดสูงขึ้น ทำให้มีลักษณะเรียวสูงกว่า แสดงถึงพัฒนาการทรงรูปแบบที่ช่างเมืองน่าน ดัดแปลงนำมาใช้ในระยะหลัง ซึ่งคงมีอายุไม่เก่าไปกว่าครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 22

images wathuakhuang_prae1
ทั้งนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ได้ที่ ททท. สำนักงานแพร่ โทรศัพท์ 0 5452 1118-9, 0 5452 1127

ใส่ความเห็น